จากแบบจำลอง OSI สู่ DAL

จำได้ว่าสมัยเรียนวิชาเน็ตเวิร์ก เนื้อหาหนึ่งที่ชอบ คือ แบบจำลอง OSI (Open Systems Interconnection Model) ที่แจกแจงระดับชั้นของการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ (Interoperability) ออกเป็น 7 ชั้น ซึ่งช่วยให้เข้าใจลักษณะการส่งผ่านข้อมูลที่อยู่ในแอปพลิเคชันชั้นบนสุด ลงไปสู่ชั้นกายภาพล่างสุดได้อย่างเห็นภาพ

ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอใช้การเทียบเคียงวิธีการนำเสนอลักษณะการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์และเครือข่าย โดยใช้แบบจำลอง DAL (Digital Apparatus Layer) เพื่ออธิบายให้เห็นภาพรวมของพัฒนาการอุปกรณ์และเครือข่าย ที่แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ไล่เรียงจากล่างสุดไปยังบนสุด ประกอบด้วย ชั้นฮาร์ดแวร์ ชั้นเครือข่าย ชั้นหน่วยเก็บข้อมูล และชั้นสินทรัพย์ ตามลำดับ

ชั้นฮาร์ดแวร์ (Hardware) ได้แก่ เครื่องจักรกล (Machine) คอมพิวเตอร์ (Computer) สมาร์ตโฟน (Smart Phone) และอุปกรณ์สวมใส่แบบสมาร์ต (Smart Wear) ชั้นเครือข่าย (Network) ได้แก่ อินเทอร์เน็ต (Internet) สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และเมตาเวิร์ส (Metaverse) ชั้นหน่วยเก็บข้อมูล (Data Storage) ได้แก่ ฐานข้อมูล (Database) และบล็อกเชน (Blockchain) ชั้นสินทรัพย์ (Asset) ได้แก่ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset)

แบบจำลอง DAL ใน 4 ชั้น ข้างต้น สามารถแสดงเป็นแผนภาพได้ ดังนี้



หากพิจารณาอุปกรณ์ในชั้นฮาร์ดแวร์ที่เป็นเครื่องจักรกลนั้น ถือว่าเป็นส่วนที่สืบเนื่องมาจากยุคอุตสาหกรรม (จึงแสดงเป็นเส้นประ) และส่งทอดมาเป็นคอมพิวเตอร์ในยุคดิจิทัลตั้งต้น ผนวกกับอินเทอร์เน็ตในชั้นเครือข่าย พัฒนากลายมาเป็นยุคดิจิทัลเต็มตัว ในยุคนี้มีผู้เล่นซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ กูเกิล และแอมะซอน นับเป็นคลื่นดิจิทัลลูกแรก

อุปกรณ์ในชั้นฮาร์ดแวร์ถัดมา คือ สมาร์ตโฟน ที่พกพาติดตัวไปได้สะดวกกว่าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะหรือแบบวางตัก และสามารถต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา จึงเป็นตัวผลักดันให้เกิดเป็นสื่อสังคมออนไลน์ในชั้นเครือข่าย ถัดจากอินเทอร์เน็ต ในยุคนี้มีผู้เล่นซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย อาทิ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ นับเป็นคลื่นดิจิทัลลูกที่สอง

พัฒนาการที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันกับสื่อสังคมออนไลน์ในชั้นเครือข่าย คือ การเกิดขึ้นของบล็อกเชนในชั้นหน่วยเก็บข้อมูล ที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นจากข้อมูลที่สามารถระบุความเป็นเจ้าของหนึ่งเดียวของผู้ถือครอง ในยุคนี้จึงมีการเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ และบล็อกเชนที่ได้รับความนิยมอย่างอีเธอเรียม เป็นต้น นับเป็นคลื่นดิจิทัลลูกที่สาม

อีกพัฒนาการหนึ่งที่เกิดขึ้นในคลื่นดิจิทัลลูกที่สาม คือ เมตาเวิร์ส ในชั้นเครือข่าย ที่มีวัตถุประสงค์ในการพาผู้ใช้ท่องโลกความจริงเสมือน (Virtual Reality) ซึ่งเป็นสภาวะจำลองที่สร้างขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อให้เหมือนสภาวะจริง ซึ่งผู้ใช้สามารถมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสภาวะจำลองนี้ได้ เช่น การจำลองสภาพเรือนไทยเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าไปดูห้องต่าง ๆ ภายในได้เสมือนกับเข้าไปดูจริง ๆ รวมถึงการขยายพิสัยของผู้ใช้ผ่านโลกความจริงเสริม (Augmented Reality) ซึ่งเป็นสภาวะจริงที่แต่งเติมขึ้นด้วยเทคโนโลยี เช่น ผู้ใช้กำลังดูรถยนต์อยู่และต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ ก็อาจจะใช้แว่นตาชนิดพิเศษซึ่งสามารถแสดงข้อมูลรถยนต์ซ้อนลงบนภาพรถยนต์ที่กำลังมองอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโลกในเมตาเวิร์ส จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์พื้นฐานในการใช้งานเชื่อมต่อชนิดใหม่ เช่น อุปกรณ์สวมศีรษะ แว่นหรือเลนส์สร้างภาพเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า Smart Wear ในชั้นฮาร์ดแวร์ มิใช่แค่คอมพิวเตอร์ที่ใช้เข้าอินเทอร์เน็ต หรือสมาร์ตโฟนที่ใช้เข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ จึงต้องรอให้อุปกรณ์สวมใส่แบบสมาร์ตดังกล่าว มีการพัฒนาจนถึงจุดที่สามารถใช้งานได้จริงอย่างกว้างขวาง ยุคเมตาเวิร์สถึงจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์