วิวัฒนาการในยุคดิจิทัล

ในโลกยุคดิจิทัล สามารถแบ่งวิวัฒนาการออกได้เป็น 3 ระยะ ไล่เรียงจากการทำให้เป็นอัตโนมัติ (Automation) โลกาภิวัตน์ (Globalization) และการกระจายจากศูนย์กลาง (Decentralization) ตามลำดับ

ในระยะแรกของยุคดิจิทัล เป็นบทบาทของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการผลักดันให้เกิดการยกระดับการทำงานด้านการคำนวณตัวเลข การประมวลผลข้อมูลที่มีความซับซ้อน และทำได้คราวละมากๆ มีการย่อส่วนหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ให้เป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก ทำให้สามารถฝังไว้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นอกเหนือจากที่ใช้งานในเครื่องคอมพิวเตอร์ เกิดเป็นระบบงานแบบอัตโนมัติ (Automation) อย่างกว้างขวางและใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งในโรงงาน ที่เรียกว่า Factory Automation ในสำนักงาน ที่เรียกว่า Office Automation หรือในบ้านพักอาศัย ที่เรียกว่า Home Automation เป็นต้น

ในระยะที่สองของยุคดิจิทัล เป็นบทบาทของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในการผลักดันให้เกิดการยกระดับการติดต่อสื่อสารของผู้คนบนโลกได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มีการพัฒนาวิธีเรียกดูข้อมูลจากระยะไกลผ่านเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) วิธีการส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบอีเมล (Electronic Mail) วิธีการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูลโดยใช้เอฟทีพี (File Transfer Protocol) วิธีการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกิจกรรมหรือธุรกรรมเหล่านี้ เกิดขึ้นบนแป้นพิมพ์โดยใช้ระยะเวลาชั่วลัดนิ้วมือเดียว ทำให้ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก สามารถแลกเปลี่ยน รับรู้ และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วกว้างขวางผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่แพร่กระจายไปทั่วโลก (Globalization)

ส่วนวิวัฒนาการในระยะที่สามของยุคดิจิทัล เป็นบทบาทของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ผลักดันให้เกิดการแปลงข้อมูลเป็นสินทรัพย์ โดยสามารถระบุความเป็นเจ้าของหนึ่งเดียวของผู้ถือครองและไม่สามารถมีผู้อื่นแอบอ้างกรรมสิทธิ์ซ้ำได้

บล็อกเชน คือรูปแบบการเก็บข้อมูลที่ต่างจากการเก็บบันทึกข้อมูลแบบเดิม ตรงที่การเก็บแฟ้มข้อมูล (File) หรือฐานข้อมูล (Database) แบบเดิม ต้นฉบับจะถูกเก็บไว้โดยเจ้าของหรือผู้ดูแลกลาง ครั้นเมื่อมีการทำสำเนาเพื่อวัตถุประสงค์ในการสำรองข้อมูลหรือวัตถุประสงค์อื่นใด ผู้ถือสำเนาจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นได้เหมือนกับผู้ถือต้นฉบับ ทั้งนี้ ผู้ถือสำเนาอาจแอบอ้างว่าเป็นผู้ถือต้นฉบับ และสร้างความเสียหายด้วยการละเมิดกรรมสิทธิ์ เช่น ไฟล์ภาพยนตร์ ไฟล์เพลง ไฟล์ภาพที่ถูกทำซ้ำ โดยที่ผู้ถือต้นฉบับจริงไม่ได้รับประโยชน์จากสำเนาเหล่านั้น

ขณะที่การเก็บข้อมูลแบบบล็อกเชน จะใช้วิธีจัดเก็บแบบมีคู่ฉบับหลายฉบับ (เป็นบล็อก) กระจายอยู่ในที่ต่างๆ โดยไม่ต้องมีผู้ดูแลกลาง (เป็นโหนดแบบ Peer-to-peer) และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลที่ได้จัดเก็บไปแล้ว ต้องได้รับฉันทานุมัติจากผู้ถือคู่ฉบับเหล่านั้นให้มีความถูกต้องตรงกันก่อน โดยการจัดเก็บข้อมูลในบล็อกใหม่ จะมีการสร้างค่ารหัส (Hash) ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับบล็อกก่อนหน้า (เป็นเชน) และมีการพิสูจน์งาน (Proof-of-work) เพื่อให้เกิดภาระยืนยันในความสอดคล้องต้องกันของข้อมูลก่อนการสร้างบล็อกใหม่ในเชน (คือ ตั้งใจออกแบบให้มีการหน่วงการทำงาน เพื่อให้แต่ละโหนดมีเวลาตรวจสอบ) จึงทำให้กรณีการทำสำเนาข้อมูลที่จัดเก็บแบบบล็อกเชน ผู้ถือสำเนาไม่สามารถแอบอ้างความเป็นเจ้าของในข้อมูลนั้นซ้ำได้

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ข้อมูลในบล็อกเชนสามารถแปลงเป็นสินทรัพย์ที่ระบุความเป็นเจ้าของหนึ่งเดียวของผู้ถือครองที่แท้จริงได้ โดยไม่ต้องพึ่งระบบที่อาศัยตัวกลางในการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ (Decentralization)