การเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล

แม้จะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางว่า สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ หรือโทเค็นดิจิทัลต่างๆ ที่ซื้อขายกันนั้น มีคุณค่าอยู่จริงหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า คำถามนี้ เป็นประเด็นของการยอมรับที่มีเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ออกสินทรัพย์และการนำไปใช้ในวงกว้างเป็นปัจจัยหรือเงื่อนไขรองรับหลัก เนื่องจากหากเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ในโลกเดิม เช่น ทองคำ (ที่เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่ง) และ ธนบัตร (ที่เป็นกระดาษหรือพอลิเมอร์พิมพ์ลาย) ทั้ง ทองคำ ธนบัตร บิตคอยน์ และโทเค็นดิจิทัล ต่างมิได้มีมูลค่าในตัว (Intrinsic Value) แต่เกิดจากการผูกโยงกับคุณค่าภายนอกหรือมีสินทรัพย์อื่นหนุนหลัง

หากการออกสินทรัพย์ดิจิทัลทำโดยองค์กรหรือสถาบันที่น่าเชื่อถือ มีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ และมีพื้นที่สำหรับการใช้งาน (Use Case) ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ประเด็นข้อสงสัยเรื่องคุณค่าที่มีอยู่จริง ก็น่าจะลดความกังวลลงโดยลำดับ

เหตุที่สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว แม้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะเกิดขึ้นมานานกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เพิ่งเกิดขึ้น ได้เข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดการสร้างข้อมูลที่สามารถระบุความเป็นเจ้าของหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของสินทรัพย์ ที่ต้องไม่สามารถทำซ้ำหรือปลอมแปลงได้ง่าย (ไม่เพี้ยน) ประกอบกับการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเครือข่ายที่มีเสถียรภาพ (ไม่พัง) และการมีระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง (ไม่พัก) รวมกันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นเป็นผลสำเร็จ

หากจะประมวลประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Class) เพื่อจัดจำพวกเหรียญหรือโทเค็นที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถจำแนกออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้

(1) เหรียญออม มีลักษณะเป็น Store of Value เป็นเหรียญที่ถูกสร้างให้มีปริมาณจำกัด และด้วยความมีจำกัดในอุปทานของเหรียญจึงมีคุณสมบัติของการหามาได้ยาก (Scarcity) เมื่อใดที่อุปสงค์เพิ่มขึ้น ราคาเหรียญจะขยับขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น หากความต้องการเหรียญมีมากกว่าปริมาณเหรียญในอัตราที่สูง ราคาเหรียญอาจมีการปรับตัวขึ้นในอัตราที่สูงตาม ในทางกลับกัน ราคาเหรียญก็สามารถด้อยค่าลงอย่างรวดเร็ว หากมีการพลิกผันของอุปสงค์ไปในทางตรงข้ามจนลดลงต่ำกว่าอุปทาน มูลค่าของเหรียญประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานเป็นหลัก เนื่องจากตัวเหรียญมิได้มีมูลค่าในตัวเอง การตีราคาเหรียญประเภทนี้ มักมีการเทียบเคียงกับเกณฑ์การให้ราคาโลหะมีค่า (Precious Metal) หรือธาตุหายาก (Rear-earth Element) ตัวอย่างเหรียญที่จัดอยู่ในจำพวกนี้ ได้แก่ บิตคอยน์

(2) เหรียญตรา มีลักษณะเป็น Exchange of Value เป็นเหรียญที่ออกโดยองค์กรหรือสถาบันโดยมีการตรามูลค่าตามราคาที่กำหนด หรือมีการอิงมูลค่ากับสินทรัพย์หรือเงินทั่วไป (Fiat Money) ในอัตราส่วนที่กำหนด เหรียญประเภทนี้ มักเรียกว่า Stable Coin และมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดยราคาเหรียญจะคงตัวตามที่ตรามูลค่าไว้ หรือเคลื่อนไหวตามสินทรัพย์หรือสกุลเงินที่ใช้อ้างอิง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ขึ้นกับความมั่นคงของสินทรัพย์หรือกลไกที่ใช้ในการตรึงราคาให้เท่ากับมูลค่าที่ตราไว้ ตัวอย่างเหรียญที่จัดอยู่ในจำพวกนี้ ได้แก่ เหรียญในกลุ่ม CBDC (Central Bank Digital Currency) ที่ออกโดยธนาคารกลาง โดยอ้างอิงกับสกุลเงินประเทศตน หรือเหรียญ USDC, USDT ที่ออกโดยเอกชน โดยอ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

(3) เหรียญฟืน มีลักษณะเป็น Circulating of Value เป็นเหรียญที่เจ้าของเครือข่ายบล็อกเชนเป็นผู้ออกเพื่อใช้หมุนเวียนในเครือข่าย โดยผู้ถือเหรียญสามารถใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมทำธุรกรรม (มักเรียกกันว่า ค่าเชื้อเพลิง ค่าแก๊ส) หรือนำมาวางไว้เป็นสินประกัน (Staking) เพื่อรับผลประโยชน์ตามที่ตกลงกับเจ้าของเครือข่าย เช่น การตั้งโหนดคอมพิวเตอร์เพื่อร่วมตรวจสอบยืนยันธุรกรรมในเครือข่าย ซึ่งเครือข่ายบล็อกเชนที่มีผู้นิยมใช้งานสูง ความต้องการเหรียญก็จะเพิ่มสูงขึ้นตาม ส่งผลผลักดันให้ราคาเหรียญมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย การตีราคาเหรียญประเภทนี้ มักมีการเทียบเคียงกับเกณฑ์การกำหนดมูลค่าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่เป็นวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิต เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ตัวอย่างเหรียญที่จัดอยู่ในจำพวกนี้ ได้แก่ อีเธอร์ ที่ใช้งานบนเครือข่ายบล็อกเชนอีเธอเรียม

(4) เหรียญสิทธิ มีลักษณะเป็น Governing of Value เป็นเหรียญที่ออกโดยเจ้าของโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานที่ถือเหรียญมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิออกเสียง การเสนอหรือร่วมจัดทำข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาโครงการ การร่วมตัดสินใจในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการออกบริการใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อการสร้างคุณค่าของโครงการในระยะยาว โดยปกติเหรียญประเภทนี้จะไม่มีมูลค่าในเชิงราคา แต่เจ้าของโครงการอาจมีการจูงใจให้ผู้ใช้งานถือเหรียญด้วยการให้ของตอบแทน (Reward) เป็นส่วนลดค่าใช้บริการในเครือข่าย สิทธิในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ก่อนผู้อื่น เป็นต้น หรือกำหนดให้มีปริมาณเหรียญที่จำกัด ทำให้เหรียญมีราคาซื้อขายตามความต้องการในตลาด ทั้งนี้ สิทธิออกเสียงที่ได้จากการถือเหรียญของชุมชนผู้ใช้งาน อาจจะไม่มีผลไปในทางที่ชุมชนต้องการ หากเจ้าของโครงการมีการถือเหรียญสิทธิในสัดส่วนที่มากกว่า เพื่อต้องการคงสิทธิในการชี้นำทิศทางโครงการที่ตนเป็นเจ้าของ (คล้ายกับการถือหุ้นเพื่อให้มีเสียงข้างมากโดยเจ้าของกิจการในบริษัท) ตัวอย่างเหรียญที่จัดอยู่ในจำพวกนี้ ได้แก่ ยูนิ ที่ออกโดยยูนิสวอป ผู้ให้บริการตลาดแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์

(5) เหรียญปั้น มีลักษณะเป็น Generating of Value เป็นเหรียญที่เจ้าของโครงการเสนอขายเพื่อระดมเงินทุนมาพัฒนาโครงการ โดยการเติบโตของโครงการ จะทำให้เหรียญมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และผู้ถือได้ประโยชน์เป็นกำไรจากส่วนต่างราคา ในทางกลับกัน หากโครงการไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ได้รับความนิยม ผู้ถือเหรียญอาจจะสูญเงินลงทุนจากมูลค่าเหรียญที่ลดลง โดยปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบในการตีราคาเหรียญประเภทนี้ ได้แก่ สมุดปกขาว (White Paper) โครงการ ทีมพัฒนาโครงการ หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และที่สำคัญ คือ มูลค่าจากการใช้งานจริง (Real Use Case)

(6) เหรียญปั่น มีลักษณะเป็น Speculating of Value เป็นเหรียญที่ออกโดยมุ่งหวังให้เกิดการสร้างราคาเหรียญให้สูงขึ้น เพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างราคา โดยขาดปัจจัยพื้นฐานรองรับ แต่อาศัยการสร้างกระแสนิยม เพื่อชี้นำให้เข้าถือเหรียญตามๆ กัน ในลักษณะ FOMO (Fear Of Missing Out) หรือ กลัวตกกระแส ผู้พัฒนาเหรียญประเภทนี้ จะมีสมุดปกขาวหรือเอกสารสังเขป (Lite Paper) โครงการ มีการเอ่ยถึงทีมพัฒนาทั้งแบบที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยตัว มีการระบุชื่อ (ว่าที่) พันธมิตรโครงการ แต่ไม่มีรายละเอียดของการใช้งานจริง หรือมีเพียงการพรรณนาถึงตัวอย่างการใช้งาน (ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต) ตัวอย่างเหรียญที่จัดอยู่ในจำพวกนี้ ได้แก่ เหรียญมีม (Meme) ที่เลียนรูปแบบสิ่งที่ก่อให้เกิดความนิยมได้อย่างรวดเร็ว หรือเหรียญเกมประเภท Play-to-earn ที่ไม่สามารถคงอัตราผลผลิต (Productivity) ได้ในระยะยาว

(7) เหรียญอวด มีลักษณะเป็น Showing off Value เป็นเหรียญที่ใช้เทคโนโลยีในการกำหนดให้เหรียญหรือชุดของเหรียญที่ออกมีความเฉพาะตัว ผู้ที่ครอบครองจะได้รับเอกสิทธิ์ตามที่กำหนดในเหรียญแต่ผู้เดียว และไม่สามารถใช้เหรียญอื่นมาทดแทนหรืออ้างสิทธิ์เดียวกันได้ เหรียญประเภทนี้มีคุณสมบัติเหมือนกับงานศิลปะหรือของสะสมหายาก จึงทำให้เหรียญมีราคาผันผวนสูงเพราะเป็นการตีมูลค่าทางใจและอยู่บนพื้นฐานของความหลงใหลในงานตามแต่ละบุคคล ปัจจุบัน มีความพยายามใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการแบ่งส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่แบ่งไม่ได้ (Indivisible Property) หรือยากต่อการแบ่งเป็นส่วนย่อย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการซื้อขายทรัพย์สินประเภทดังกล่าว ตัวอย่างเหรียญที่จัดอยู่ในจำพวกนี้ ได้แก่ โทเค็นประเภท NFT (Non-fungible Token) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดเป็น อสังกมทรัพย์ คือ สังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจใช้ของอื่น ที่เป็นประเภทและชนิดเดียวกัน มีปริมาณเท่ากันแทนได้ ในอนาคต คาดว่าเหรียญประเภทนี้ จะนำมาประยุกต์ใช้แสดงอัตลักษณ์บุคคล (Personal Identity) ในหลายรูปแบบ เช่น การใช้แสดงสมาชิกภาพ การใช้แทนบัตรประจำตัวหรือใช้เป็นบัตรเครดิตเก็บในดิจิทัลวอลเล็ต แทนการพกพาบัตรพลาสติกในรูปแบบเดิม ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ ได้แก่ การที่ผู้ขายสามารถออกโทเค็นเครดิตรับชำระค่าสินค้าในรูปแบบ BNPL (Buy Now Pay Later) โดยตรงจากผู้ซื้อ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางการชำระเงินเช่นในปัจจุบัน

จะชอบหรือไม่ก็ตาม สังคมได้เคลื่อนเข้าสู่ยุคที่โฉมหน้าของสินทรัพย์สามารถเก็บในรูปแบบของข้อมูลดิจิทัล และสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ในโลกจริง ทางเลือกระหว่างการรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ กับการปฏิเสธเพื่อมิไห้เกิดโทษภัยจากการนำมาใช้ จะยังคงเป็นทางสองแพร่ง (Dilemma) ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกจริงดิจิทัล (Digital Reality) ที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป