โลกจริงดิจิทัล

เมื่อสมัยผมเข้าคณะวิศวะ ม.เกษตร ปี พ.ศ.2527 จำได้ว่าอยากเรียนในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่ยังไม่มีเปิด จึงได้เรียนในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิชาเอกสื่อสารแทน สมัยนั้น วิชาฮาร์ดแวร์ ยังสอนเรื่องสถาปัตยกรรมไมโครโปรเซสเซอร์ Z80 ที่ประมวลผลข้อมูลแบบ 8 บิตอยู่เลย ส่วนวิชาซอฟต์แวร์ มีส่งงานด้วยการรันโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาฟอร์แทรนโดยใช้บัตรเจาะรู ต้องต่อคิวรอใช้เครื่องกัน เรียกได้ว่าเป็นยุคต้นๆ ของวิวัฒนาการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็ว่าได้ เวลาผ่านล่วงเลยมาเกือบ 40 ปี วันนี้เรากำลังพูดถึงเมตาเวิร์สที่ผู้คนทั่วโลกสามารถมีตัวตนทางดิจิทัล (Avatar) และมีปฏิสัมพันธ์กันในชุมชนออนไลน์ได้อย่างไร้ขอบเขต

จากที่เป็นคนรุ่น Gen X ที่ไม่อยากตกขบวน จึงตั้งใจทำบล็อกนี้ขึ้น เพื่อบันทึกเรื่องราวพัฒนาการในยุคดิจิทัลที่ไปอ่านไปฟังมา จากยุคอินเทอร์เน็ตแรกเริ่ม (คลื่นลูกที่หนึ่ง) ที่ผมได้มีโอกาสเขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ “เริ่มต้นธุรกิจกับอินเทอร์เน็ต” ที่ปัจจุบันเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ล้าสมัยไปแล้ว ด้วยการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ (คลื่นลูกที่สอง) และนับจากปี 65 นี้ เรากำลังเข้าสู่คลื่นดิจิทัลลูกที่สาม ที่ถ้ามองในมุมของผู้ใช้งาน จะเรียกว่ายุค Web 3 และต้องบอกว่าการบอกเล่าเรื่องราวในบล็อกนี้ เป็นการประมวลในทัศนะของผู้เขียน แล้วพยายามถ่ายทอดให้คน Gen X ด้วยกันเข้าใจ

บทความในซีรีส์แรกนี้ ขอใช้ชื่อว่า Digital Reality: โลกจริงดิจิทัล จะเล่าเรื่องโดยใช้วิธีย้อนเวลาหาอนาคต คือ กลับไปในอดีตเพื่อทำความเข้าใจพัฒนาการที่นำมาสู่ยุคดิจิทัลในตอนที่หนึ่ง "กำเนิดยุคดิจิทัล" การเดินทางในปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีวิวัฒนาการในตัวเองจนก่อให้เกิดผลประทบต่อผู้คนทั่วโลกในตอนที่สอง "วิวัฒนาการในยุคดิจิทัล" ภาพรวมของพัฒนาการอุปกรณ์และเครือข่ายในตอนที่สาม "จากแบบจำลอง OSI สู่ DAL" พัฒนาการของเว็บใน 3 ช่วงในตอนที่สี่ "จาก Web 1.0 สู่ Web 3.0" และการเตรียมตัวรับมือกับอนาคตที่มีการใช้ดิจิทัลในการสร้างสินทรัพย์รูปแบบใหม่ๆ ในตอนที่ห้า "การเกิดขึ้นของสินทรัพย์ดิจิทัล" ซึ่งจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตไปจากเดิม ทยอยติดตามกันได้นะครับ